Heart Chat Bubble

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีตักบาตรดอกไม้


ประเพณีตักบาตรดอกไม้



ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีที่สำคัญของอำเภอพระพุทธบาท โดยในวันเข้าพรรษาซึ่ง ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปทำบุญตัก บาตรที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เสร็จจากการทำบุญตักบาตรใน ตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มี 4 สี คือ สีเหลือง สีขาว สีม่วง และสีส้ม ลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือ ต้นขมิ้น ดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามไหล่เขา และจะมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษา เท่านั้น


     การตักบาตรดอกไม้จะทำในตอนบ่าย ในขณะที่พระภิกษุอุ้มบาตรเดินขึ้น บันได จะรับดอกไม้จากประชาชนเพื่อนำไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หลังจากนั้นก็จะเดินลงมา ตลอดทางจะมีชาวบ้านนำขันน้ำลอยด้วยดอก พิกุล คอยอยู่ตามขั้นบันไดเพื่อล้างเท้าให้ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการ ชำระบาปที่ได้กระทำมาให้หมดสิ้นไป

ประวัติความเป็นมาของประเพณีตักบาตรดอกไม้


     สาเหตุที่ชาวพุทธถือการตักบาตรดอกไม้เป็นอานิสงส์อันสำคัญยิ่งอันหนึ่งก็มีการเล่าสืบกันมาตามพุทธตำนานว่าพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองราชคฤห์ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก วันหนึ่งพระองค์จะต้องได้รับดอกมะลิสดจากนายมาลาการ วันละ 8 กำมือเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน ได้พบเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จออกรับบิณฑบาต นายมาลาการเห็นฉัพพรรณรังษีฉายประกายรอบ ๆ พระวรกาย เมื่อพบเช่นนั้นจึงเกิดพลังเลื่อมใสศรัทธาพระองค์เป็นยิ่งนัก จึงนำดอกมะลิทั้ง 8 กำมือถวายบูชาพระพุทธองค์ โดยมิได้เกรงอาญาที่จะได้รับจากพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยเหตุที่ไม่มีดอกมะลิสดไปถวาย ก่อนที่นายมาลาการจะนำดอกมะลิสดถวายได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระราชามอบให้ประจำนั้นเป็นเพียงเลี้ยงชีพในอัตภาพนี้ภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแด่พระศาสดา ให้ประโยชน์สุขได้ทั้งภพนี้และภพหน้า ถ้าจะถูกรับสั่งให้ประหารชีวิตเพราะไม่นำดอกมะลิไปถวายแด่พระราชาก็ยอม ฝ่ายภรรยานายมาลาการ เกรงกลัวว่าจะต้องโทษที่สามีไม่ปฏิบัติหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายจึงหนีออกจากบ้านไป แต่เหตุการณ์กลับกลายเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบกลับพอพระพราชหฤทัยเป็นอันมากได้บำเหน็จรางวัลความดีความชอบ แก่นายมาลาการ เป็นสิ่งของทั้งปวงอย่างละ 8 คือ ช้าง 8 เชือก ม้า 8 เชือก ทาส 8 คน เครื่องประดับชุดใหญ่ 8 เครื่อง กหาปณะ 8 พัน นารี 8 นางที่นำมาจากราชตระกูลประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงและบ้านสวย 8 หลัง นับแต่นั้นมาชีวิตของนายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขก็ด้วยอานิสงส์จากการที่ได้นำดอกมะลิถวายบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตรจากอานิสงส์ดังกล่าวซึ่งมีมาแต่ครั้งพุทธกาลชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไปจึงถือเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้กันเป็นประจำทุกปี และกำหนดเอาวันเข้าพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี เป็นวันประเพณีตักบาตรดอกไม้ การตักบาตรดอกไม้แต่ละปี

     สำหรับงานประเพณีตักรบาตรดอกไม้ของชาวพระพุทธบาทนั้นกล่าวว่ามีประวัติดังนี้ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พรานบุญ เป็นนายพรานล่าสัตว์อยู่แถบป่าลึกเมืองสระบุรี วันหนึ่งนายพรานยิงธนูถูกกวางตัวหนึ่งวิ่งหนีลับเข้าป่าไป นายพรานตามรอยเลือดเข้าไป พบรอยไปหยุดที่บ่อแห่งหนึ่งที่มีรูปร่างดังรอยเท้าคน แล้วรอยเลือดนั้นก็หายไป พรานบุญลองเอาน้ำในบ่อนั้นมาทารอยกลากเกลื้อนที่มีอยู่ตามเนื้อตัว รอยเหล่านั้นก็หายไปหมดสิ้น ความได้ทราบถึงพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงเสด็จมาสักการะรอยพระพุทธบาทนี้ด้วยพระองค์เอง และจึงทรงโปรดให้สร้างมณฑปคลุมรอยพระพุทธบาทไว้ และจัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นวันเข้าพรรษาทุกปี กาลต่อ ๆ มาป่าทึบรายล้อมองค์พระพุทธบาทเกิดมีดอกไม้พันธุ์หนึ่งลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือต้นขมิ้น จะออกดอกบานสะพรั่งสวยงามทุกปีในช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้านรอบองค์พระพุทธบาทเห็นเป็นอัศจรรย์จึงพร้อมใจกันเก็บดอกไม้นั้นมาร่วมตักบาตรเฉลิมฉลององค์พระพุทธบาทมานับแต่นั้นทุกปีมามิได้ขาด
โดยเรียกชื่อว่าดอกเข้าพรรษา  ดอกเข้าพรรษานี้จะผลิดอกเฉพาะช่วงดูกาลเข้าพรรษาเท่านั้น ลักษณะต้นคล้ายกับต้นกระชายหรือต้นขมิ้นสูงประมาณ 1 คืบเศษ ดอกจะมีสีเหลือง สีขาว สีน้ำเงินและบางต้นก็มีสีม่วง ชอบขึ้นตามไหล่เขาในเขตอำเภอพระพุทธบาท เช่นภูเขาโพธิลังกา หรือภูเขาสุวรรณบรรพต เขาเซียน เขาช้าง เขาพุ เขาวง เขาถ้ำวิมานจักรีแต่เนื่องจากดอกเข้าพรรษาปีนี้ไม่เพียงพอต่อควาต้องการของประชาชนชาวพุทธศาสนิกชน จึงต้องต้อง ใช้ดอกไม้ชนิดอื่นเข้าร่วมพิธีตักบาตรดอกไม้ด้วย อาทิเช่น ดอกบัว ดอกมะลิ เป็นต้น

รูปแบบประเพณีปัจจุบัน 

     ในงานประกอบไปด้วยขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวสระบุรี ขบวนจำลองพยุหยาตราของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมานมัสการรอยพระพุทธบาท ประกวดไม้ดอกไม้ประดับประดิษฐ์จากดอกไม้ใบตอง ประกวดธิดาตักบาตรดอกไม้ และปิดท้ายด้วยการตักบาตรดอกไม้

พิธีการด้านศาสนา

     เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้รับบิณฑบาตดอกไม้แล้วพระภิกษุสงฆ์ก็จะนำดอกไม้เข้าในพระมณฑปพระพุทธบาทเพื่อสักการบูชารอยพระพุทธบาทแล้วนำออกมาสักการะพระเจดีย์จุฬามณีอันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนำไปสักการบูชาพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดอธิฐานเข้าพรรษา ก่อนที่พระภิกษุสงฆ์จะเข้าโบสถ์ตรงบันไดจะมีประชาชนนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าแด่พระสงฆ์ ถือกันว่าเป็นการชำระล้างบาปของตนที่ได้กระทำมา ให้หมดไปในวันตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา เป็นอันว่าเสร็จสิ้นพิธีการตักบาตรดอกไม้ 
แห่เทียนพรรษาพระราชทาน วันประเพณีตักบาตรดอกไม้ในปัจจุบันนี้ทางราชการได้ผนวกเอาการแห่เทียนพรรษาและถวายเทียนพรรษาพระราชทานเข้าไปเป็นวันเดียวกันโดยในทุก ๆ ปีเทศกาลเข้าพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเทียนพรรษาที่ทรงพระราชอุทิศ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารและเมื่อนำเอาประเพณีทั้งสองอย่างเข้ามารวมกันในวันเดียวจึงทำให้งานประเพณีตักบาตรดอกไม้วันเข้าพรรษายิ่งใหญ่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมงานนับแสนคน


กำหนดการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกไม้

ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 เวลา 15.00 น.
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) เวลา 10.00 น. และ 15.00 น.
แรม 1 ค่ำ เดือน 8 (วันเข้าพรรษา) เวลา 10.00 น. และ 15.00 น.
วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น