ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก
สถานที่: บริเวณแม่น้ำปิง ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก
“ลอยกระทงสาย ประเพณีไทยที่เกิดจากความร่วมมือ และความสามัคคีของคนในชุมชน ตระเตรียมแพผ้าป่า และกระทงสายพร้อมสรรพ จับสลากว่าใครจะลอยก่อนหลัง เมื่อทุกขั้นตอนพร้อมเรียบร้อย คนหนึ่งนำขี้ไต้ใส่กะลา อีกคนจุดไฟ อีกหนึ่งค่อยๆ กะจังหวะปล่อยเป็นสายไหลเรียงไปตามกระแสน้ำ”
การหลอมรวมหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปวัฒนธรรม ทั้ง ๓ สิ่งได้ทำให้เกิดงานประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างด้วยรูปแบบ อันมาพร้อมรายละเอียดแห่งความงดงาม จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือ กะลามะพร้าวที่ผ่านการขูดเนื้อไปทำเมี่ยง ของว่างที่คนจังหวัดตากมักจะรับประทานหลังอาหาร เหลือเจ้ากะลาที่วางทิ้งไว้ก็ดูไร้ประโยชน์ ลองนำมาทำเป็นกระทง ตรงกลางใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วนำเทียนขี้ผึ้งที่พระสงฆ์ใช้ช่วงจำพรรษา มาหล่อใส่ในกะลา เพียงเท่านี้ก็พร้อมนำไปลอย โดยชาวบ้านนั้นเชื่อว่าเทียนขี้ผึ้งเหล่านี้ นับเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเสริมสร้างสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยได้นั่นเอง
ด้วยสภาพท้องน้ำที่มีสันทรายเป็นระยะ ทำให้กระทงที่นำมาลอยไหลไปในทิศทางเดียวกันและกลายเป็นแนวคิดในการนำกระทงมาลอยเป็นสาย จนกระทั่งเริ่มมีการแข่งขันประกวดประชันอย่างจริงจังขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อถึงกำหนดเริ่มงานทุกชุมชนได้เตรียมตัวมาพร้อมเพื่อการแข่งขันขบวนแห่ที่สวยงาม เสียงดนตรีสุดคึกคัก ชาวบ้านต่างร่ายรำมาจนกระทั่งถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง เริ่มต้นขอขมาต่อพระแม่คงคา อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมปล่อยทุกข์โศกไปกับแพผ้าป่าน้ำ
"ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง" ของชาวจังหวัดตาก มีมาช้านานหลายชั่วอายุคนแล้ว เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า และขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้ใบพลับพลึงมาเย็บเป็นกระทง แล้วตักขี้ไต้ใส่เชื้อเพลิงคือน้ำมันมะพร้าว ปล่อยลงสู่ลำน้ำปิง ซึ่งเมื่อมองดูใบพลับพลึงจะให้สีขาวนวล ส่วนขี้ไต้จะสว่างไสว ดูสวยงามคล้ายไข่แดงในไข่ขาว ลอยระยิบระยับเป็นสายในท้องน้ำ แต่เมื่อใบพลับพลึงหายากขึ้น ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาใช้กะลามะพร้าวตาเดียว (กะลาที่ไม่มีรูป) แทน
สำหรับเหตุผลที่คนตากนิยมนำกะลามาทำกระทง ไม่ใช้ใบตองเหมือนที่อื่นก็อาจเป็นเพราะ ชาวเมืองตากนิยมกิน"เมี่ยง" เป็นประจำหลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง นอกจากนี้ยังขายเป็นสินค้าพื้นเมืองจนเป็นที่นิยมทั่วไปในภาคเหนือ โดยการทำเมี่ยงนั้นจะมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เมื่อเอาเนื้อไปทำเมี่ยง ตัวกะลาที่มีเหลือจำนวนมากถ้าทิ้งไว้เฉยๆ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ชาวตากจึงนำกะลาไปประยุกต์ทำเป็นกระทง
โดยจะนำกะลามาขัดถูให้สะอาด ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม และภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษา ที่พระสงฆ์ได้จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนพรรษาเหล่านั้นมาหล่อตีนกา ซึ่งถือว่าเป็นของสิริมงคล ทั้งนี้การจุดไฟที่ด้ายซึ่งฟั่นเป็นรูปตีนกานั้นถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า แสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตน
และในการลอยกระทงสายจะเริ่มต้นด้วยการลอย "กระทงนำ" หรือแพผ้าป่าน้ำ ซึ่งเป็นกระทงขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยดอกไม้ รูปเทียน ธงกระดาษแก้วหลากหลายสีที่ตัดเป็นลวดลายสวยงาม ใส่ผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมาก พลู ขนม ผลไม้ และเศษสตางค์ ซึ่งกระทงนำนี้ก่อนลอยต้องทำพิธีขอขมา เพื่อเป็นการบูชาพระแม่คงคา และพระพุทธเจ้า แล้วค่อยตามมาด้วย "กระทงตาม" ซึ่งทำด้วยกะลามะพร้าว โดยใช้เทียนขี้ผึ้งและฟั่นด้ายเป็นไส้เพื่อจุดให้แสงไฟ ลอยตามมาอีก 1,000 ใบ แล้วปิดท้ายด้วย "กระทงปิดท้าย" ซึ่งมีลักษณะเหมือนกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อเป็นการบอกว่าการลอยกระทงสายนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ในการแข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ในแต่ละสายจะต้องประกอบด้วย
1. กระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 – 2.50 เมตร ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตอง ดอกไม้สดที่เย็บเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วจึงนำมาประกอบเป็นรูปกระทง ภายในกระทงต้องมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมากพลู ขนม สตางค์ ธูป เทียน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ ส่วนรอบกระทงจะประดับด้วยไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างสวยงาม ก่อนจะนำลงรอยต้องทำพิธีจุดธูปเทียน กล่าวคำขอขมาเป็นการบูชาพระแม่คงคาและพระพุทธเจ้า พร้อมถวายผ้าป่าน้ำแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงลอยเป็นอันดับแรก
2. กระทงกะลา ใช้กะลามะพร้าวจำนวน 1,000 ใบ นำมาขัดถูให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฝั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์ได้จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนเหล่านั้นมาหลอมละลายด้วยความร้อนหล่อลงในกะลาที่มีด้ายรูปตีนกา สำหรับเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอย แลดูเป็นสายสวยงามและมีไฟส่องแสงระยิบระยับจนสุดสายตา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่นำกระทงกะลาทุกดวงมาลอยในแม่น้ำปิง
3. กระทงปิดท้าย มีลักษณะคล้ายกระทงนำแต่มีขนาดเล็กกว่า ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตองและดอกไม้สด ลอยปิดท้ายหลังจากลอยกระทงกะลาครบ 1,000 ใบ พร้อมทั้งมีสัญลักษณ์ให้ทราบว่าได้สิ้นสุดการลอยของสายกระทงนั้นแล้ว
4. การเชียร์ ในขณะที่ทำการลอยกระทงสายอยู่นั้นจะมีกองเชียร์ร่วมร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานครื้นเครอง เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำการลอย ซึ่งการแสดงเหล่านี้มีรูปแบบที่เป็นระบบภายใต้กรอบที่กำหนด คือมีผู้แสดงไม่น้อยกว่า 80 คน แต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย เพลงที่นำมาร้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับประเพณีไทยหรือวิถีชีวิตของชุมชน ดนตรีที่นำมาบรรเลงต้องใช้เครื่องดนตรีไทยทั้งหมดและจะต้องใช้กะลาเป็นส่วนประกอบของการแสดงอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งการแสดงทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
ขอขอบคุณ : ที่มาของข้อความ 1 และ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น